ประวัติโรงเรียน
|
โรงเรียนเฉลียวภาวนานุสรณ์ (ศึกษาพิเศษชลบุรี) สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ ๕ ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นโรงเรียนเฉพาะความพิการ ประเภทบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ แบบอยู่ประจำ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
โรงเรียนเฉลียวภาวนานุสรณ์ (ศึกษาพิเศษชลบุรี) ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ มีชื่อเดิมว่า โรงเรียนศึกษาพิเศษชลบุรี มีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา ๑๒ จังหวัดชลบุรี เป็นอาคารเรียนชั่วคราว โดยมี นางสรวีย์ ดอกกุหลาบ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา ๑๒ จังหวัดชลบุรี ปฏิบัติหน้าที่รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ถึงวันที่ 5 กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ต่อมามีนายสมนึก เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม ปฏิบัติหน้าที่รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนเฉลียวภาวนานุสรณ์ (ศึกษาพิเศษชลบุรี)
นางสาวปนัดดา อยู่วิทยา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของเด็กพิการ จึงมีความประสงค์จะบริจาคที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมสาธารณูปโภคเพื่อใช้เป็นโรงเรียนเฉลียวภาวนานุสรณ์ (ศึกษาพิเศษชลบุรี) และได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมสาธารณูปโภคในวันที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้น มีมติเห็นชอบการเปลี่ยนชื่อโรงเรียน “ศึกษาพิเศษชลบุรี” เป็น “โรงเรียนเฉลียวภาวนานุสรณ์ (ศึกษาพิเศษชลบุรี)” เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
โรงเรียนเฉลียวภาวนานุสรณ์ (ศึกษาพิเศษชลบุรี) เป็นโรงเรียนเฉพาะความพิการทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวหรือสุขภาพ ให้บริการด้านการศึกษาควบคู่กับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกาย เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันความพิการแทรกซ้อนและจัดหาสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์เสริมให้กับนักเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้ถึงขีดสูดสุด การจัดการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนที่สามารถเรียนได้ โดยจัดการเรียนการสอนใช้หลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์สังคมและสติปัญญา เข้าสู่ตลาดอาชีพที่หลากหลาย ส่วนกลุ่มนักเรียนที่รับรู้ได้น้อย จัดการเรียนการสอนตามแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP) โดยเน้นฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน การปรับตัวในสังคมมุ่งให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดภาระการดูแลของครอบครัวและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โรงเรียนได้ดำเนินการจัดการศึกษาโดยยึดหลักพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
|